เกริ่นนำ

หลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินข่าวคราวของข้าวหอมมะลิที่ชื่อ “ข้าวเกิดบุญ” กันมาบ้างแล้ว ขณะเดียวกันท่านก็อาจจะหยิบถุงข้าวเกิดบุญขึ้นมา แต่เปลี่ยนใจก่อนที่จะไปถึงแคชเชียร์ เนื่องจากหลาย ๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบข้อมูลที่มากพอ และข้อมูลน่าสนใจยิ่ง ซึ่งสิ่งที่จะได้กล่าวต่อไปถึงความน่าสนใจ ซึ่งท่านจะวางสินค้าชิ้นเยี่ยมนี้ไม่ลงเลยทีเดียว !


 


ความเป็นมา...น่าสนใจ

สหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนสหกรณ์มากที่สุดถึงจำนวน 3,165 แห่ง จึงเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญมาก หากมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้เกิดความเข้มแข็ง สามารถพึ่งตนเองและสามารถเป็นแม่แบบสร้างเครือข่ายคุณค่าอื่น ๆ ได้

ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีชื่อเสียงในการผลิตข้าวหอมมะลิของประเทศไทย มีอาณาเขตรวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด จังหวัดสุรินทร์ จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดยโสธร และจังหวัดมหาสารคาม ข้าวหอมมะลิที่ปลูกบริเวณนี้จะมีความหอม นุ่ม อร่อยเป็นพิเศษ มีคุณภาพสูง เป็นที่ต้องการของตลาด และขายได้ราคาดีมีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่เนื่องจากสภาพดินฟ้าอากาศ เหมาะแก่การเจริญเติบโตของข้าวหอมมะลิ รวมถึงการที่เกษตรกรส่วนใหญ่ประสบปัญหาขาดแคลนเงินทุนในการดำรงชีพ จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินนอกระบบ ทำให้มีหนี้สินสะสม ดังนั้น จุดเริ่มต้นของข้าวเกิดบุญจึงเริ่มขึ้น เริ่มจากการรวมตัวกันของกลุ่มที่เกิดจากสหกรณ์จึงช่วยให้สมาชิกภาคีมีอำนาจต่อรอง และมีช่องทางการตลาดที่กว้างขวางมากขึ้น โดยมีสหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นแม่ข่ายในการพัฒนาระบบคุณค่าระหว่างภาคเครือข่าย ซึ่งได้รับการจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2520 จากการก่อตัวของเครือข่ายคุณค่าข้าวหอมมะลิสหกรณ์ไทย โดยในช่วงปี 2549 ได้เริ่มต้นจากรูปของ “แคนดูโมเดล” เป็นเครือข่ายความร่วมมือของสหกรณ์การเกษตร 3 แห่ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด สหกรณ์การเกษตรโพนทราย จำกัด และสหกรณ์การเกษตรสุวรรณภูมิ จำกัด เพื่อเสริมพลังในการทำธุรกิจของสหกรณ์การเกษตรในพื้นที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในระยะแรก วันที่ 13 พฤษภาคม 2551 ได้มีสหกรณ์เข้าร่วมประชุม 5 สหกรณ์ เพื่อเป็นการชี้แจงให้ภาคีทราบถึงวัตถุประสงค์ของโครงการวิจัยฯ ขั้นตอนการดำเนินงาน และความคิดเห็นของสมาชิกภาคีเครือข่าย ในการประชุมครั้งถัดมา วันที่ 12 – 13 มิถุนายน 2551 มีสหกรณ์ภาคีเครือข่ายฯ ทั้งสิ้น 16 สหกรณ์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งเครือข่ายข้าวหอมมะลิสหกรณ์ และในวันที่ 16 – 17 สิงหาคม 2551 ได้มีการก่อตั้งเครือข่ายสำเร็จเป็นรูปธรรม ชื่อว่า “เครือข่ายคุณค่าข้าวหอมมะลิสหกรณ์ไทย” ทำให้ภาคีเครือข่ายมีความเข้มแข็งมีหลักเกณฑ์และระเบียบข้อบังคับ มีความจริงใจต่อกันและมีเป้าหมายไปในทิศทางเดียวกัน ภายหลังเครือข่ายดังกล่าวได้มีการเปิดตัวแบรนด์ “ข้าวเกิดบุญ” การดำเนินการของสินค้าข้าวเกิดบุญจะเป็นการสร้างคุณค่าบนโซ่อุปทาน ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยจำหน่ายทางเซเว่น อีเลฟเว่น เป็นช่องทางสำคัญ ทั้งนี้การเกิดแบรนด์ข้าวเกิดบุญขึ้น ก็เพื่อปกป้องข้าวหอมมะลิไทยโดยการรักษาคุณภาพมาตรฐานไว้ ซึ่งผลการประเมินความคิดเห็นผู้บริโภค เห็นว่าข้าวเกิดบุญ “อร่อย” แต่อาจจะต้องปรับแก้เรื่องคุณภาพข้าว การบรรจุ และการขนส่งให้รัดกุมมากขึ้น

กระบวนการวิจัย

กระบวนการหรือขั้นตอนในการทำให้การวิจัยดังกล่าวลุล่วง เริ่มจากขั้นตอนแรก คือ การประชุมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องและทีมประสานงานกลาง เพื่อวางแผนการดำเนินโครงการ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน และช่วยเหลือสนับสนุนซึ่งกันและกัน ขั้นตอนต่อมามีการจัดเวทีเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยวางเป้าหมาย และกำหนดเงื่อนไขร่วมกัน ขั้นตอนที่สาม ได้มีการจัดทำแผนที่กลยุทธ์ โดยมีการร่างกรอบ วิสัยทัศน์ ภารกิจ คือ มุ่งพัฒนาคุณค่าข้าวหอมมะลิสหกรณ์ไทยสู่สากล วัตถุประสงค์ คือ เพื่อกำหนดขอบเขตในการปฏิบัติการเครือข่าย และเพื่อให้คณะทำงานทราบถึงอำนาจหน้าที่ของตนเอง ชื่อเครือข่ายฯ เป้าหมาย และทิศทางในการทำงาน ขั้นตอนสี่ จัดทำแผนธุรกิจ โดยวางแผนปฏิบัติงานตามวัตถุประสงค์ของแต่ละพันธกิจ ขั้นตอนที่ห้า ได้มีการดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ซึ่งได้มีการประสานงานระหว่างเครือข่ายคุณค่าข้าวหอมมะลิสหกรณ์ไทยกับบริษัทเซเว่นอีเลฟเว่นที่สถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ ซึ่งทางทีมงานของเซเว่นฯ ให้การยอมรับและสนใจในคุณภาพสินค้าอย่างมาก นอกจากนี้ยังมีการประกวดคัดเลือกตราสัญลักษณ์ โดยมีการตัดสินและมอบรางวัลโดยอธิบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยประชาสัมพันธ์ของสินค้าแบรนด์ดังกล่าว ทำให้มีชื่อเสียงไปสู่สังคมในวงกว้าง ต่อมาได้มีการจัดงานเปิดตัว จัดงานนิทรรศการเกี่ยวกับข้าวเกิดบุญ โดยมีช่องทางการตลาด 2 ช่องทางในการสร้างแบรนด์เพื่อเป็นการเชื่อมโยงภาคีพันธมิตร ได้แก่ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด และเครือเดอะมอลล์กรุ๊ป รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากเซเว่นฯ อย่างเป็นทางการ และขั้นตอนสุดท้าย เป็นการถอดบทเรียน เพื่อนำมาเป็นชุดความรู้ และบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจข้าวหอมมะลิ ตลอดจนการนำข้อคิดเห็นไปปรับปรุงเพิ่มเติมและดำเนินการออกมาเป็นรายงานผลการดำเนินงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โดยผลการดำเนินงานของเครือข่ายที่เกิดจากการวิจัย มีทั้งสิ้น 16 สหกรณ์ที่ร่วมก่อตั้ง ได้แก่ สหกรณ์การเกษตรเกษตรวิสัย จำกัด สหกรณ์การเกษตรสุวรรณภูมิ จำกัด สหกรณ์การเกษตรปราสาท จำกัด สหกรณ์การเกษตรพิมาย จำกัด ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรบุรีรัมย์ จำกัด สหกรณ์การเกษตรบรบือ จำกัด สหกรณ์การเกษตรนางรอง จำกัด สหกรณ์การเกษตรกระสัง จำกัด สหกรณ์การเกษตรจตุรพักตรพิมาน จำกัด สหกรณ์การเกษตรอาจสามารถ จำกัด สหกรณ์การเกษตรโพนทราย จำกัด สหกรณ์การเกษตรโพนทอง จำกัด สหกรณ์การเกษตรชุมพลบุรี จำกัด สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดีสุวรรณภูมิสาม จำกัด สหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดีสุวรรณภูมิสี่ จำกัด และสหกรณ์การเกษตรปฏิรูปที่ดีสุวรรณภูมิห้า จำกัด

  


บทสรุป...โดยข้อคิดดีๆ

“ความร่วมมือร่วมใจอย่างเดียวนั้น หากขาดวิสัยทัศน์ก็คงเหมือนขับรถไม่มีจุดหมาย แต่วิสัยทัศน์หากขาดความร่วมมือร่วมใจ คงคล้ายมีพาหนะ แต่ไม่มีการขับเคลื่อนไปยังจุดหมายที่ควรจะไป” ดังที่คุณบุญเกิด เจ้าของข้าวแบรนด์เกิดบุญได้กล่าวไว้


View:4218