จุดเริ่มต้นของชุดโครงการวิจัย...

    นับตั้งแต่ปี 2543 ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมขับเคลื่อนโครงการวิจัยด้านสหกรณ์ในฝ่ายชุมชนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในปีแรกการวิจัยเริ่มต้นที่ โครงการ วรรณกรรมปริทัศน์งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ด้านสหกรณ์ พ.ศ. 2533-2543 ซึ่งข้อค้นพบจากการวิจัยชี้ให้เห็นว่าขบวนการสหกรณ์ยังขาดระบบการวิจัยสนับสนุนการพัฒนาในทิศทางที่เป็นสหกรณ์พึ่งพาตนเองและได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายให้มีระบบงานวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนา

    ข้อเสนอดังกล่าวถือเป็นแรงบันดาลใจทั้งของตัวผู้วิจัยและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในขบวนการสหกรณ์ไทย ทั้งผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ ผู้นำสหกรณ์ และเจ้าหน้าที่รัฐที่ได้ให้ความสนใจเข้ามาช่วยสนับสนุนการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อมองแนวทางอนาคตการพัฒนาสหกรณ์ร่วมกัน

    ต่อมาในปี 2544 จึงได้ดำเนินการโครงการประสานงานเพื่อพัฒนากรอบแนวคิดสำหรับชุดโครงการวิจัยด้านสหกรณ์ โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ การสังเคราะห์ชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานสหกรณ์ และจัดเวทีระดมความคิดเพื่อกำหนดกรอบแนวคิดสำหรับชุดโครงการวิจัยที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการสหกรณ์ไทยอย่างเป็นรูปธรรม ผลงานวิจัยได้สะท้อนให้เห็นสถานการณ์ของขบวนการสหกรณ์ในช่วงเวลาปี 2545 ซึ่งสหกรณ์ที่จดทะเบียนและสหกรณ์ภาคประชาชนยังต่างคนต่างดำเนินการเป็นเอกเทศ ยิ่งกว่านั้น ยังมีหน่วยงานรัฐมาสนับสนุนการจัดตั้งองค์กรภาคประชาชนอีกมากมาย สถานการณ์ดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นช่องว่างของข้อจำกัดของการสหกรณ์ไทยในช่วงเวลานั้น ทีมวิจัยได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายว่าสกว.ควรให้สนับสนุนการวิจัยใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มการวิจัยขั้นพื้นฐาน กลุ่มการวิจัยเชิงสังเคราะห์ และกลุ่มการวิจัยแบบมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของชุดโครงการฯ ตั้งแต่นั้นมา

    การวางระบบสร้างสรรค์การวิจัย

    ระบบการวิจัยของชุดโครงการฯ ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) การบริหารจัดการงานวิจัย โดยมีทีมประสานงานเป็นแกนหลัก ทำหน้าที่วางกรอบการวิจัยการสร้างเครือข่ายนักวิจัย/ผู้ทรงคุณวุฒิ การสร้างสรรค์ความรู้/นวัตกรรม/ตัวแบบธุรกิจ และศูนย์เรียนรู้ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนสู่การบรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายการวิจัย 2) การวิจัย โดยมุ่งเน้นไปที่รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) และมีการกำหนดเงื่อนไข/คุณสมบัติของนักวิจัยที่จะสามารถสร้างสรรค์คุณค่าและมูลค่าเพิ่มจากการวิจัย หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางของเข็มมุ่งเพื่อการพัฒนาการสหกรณ์ในเชิงอัตลักษณ์ 3) การสร้างชุมชนฐานความรู้ (Knowledge Based Community) ที่เข้ามามีส่วนร่วมในการเรียนรู้และสร้างสรรค์การพัฒนาการสหกรณ์ทิศทางของระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม และคาดหวังว่าผลลัพธ์ของการวิจัยภายใต้กรอบการวิจัยของชุดโครงการฯ จะก่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นชุดความรู้ นวัตกรรม ตัวแบบธุรกิจ และศูนย์เรียนรู้ ตลอดจนเครือข่ายประชาคมวิจัยที่จะสร้างสรรค์การเปลี่ยนแปลงในสังคม

    14 ปีการขับเคลื่อนชุดโครงการวิจัย...

    การขับเคลื่อนการวิจัยของชุดโครงการฯ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ตลอดระยะเวลา 14 ปีที่ผ่านมาถือเป็นงานที่ไม่ง่ายเลย ในฐานะผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัยได้ใช้ระบบการบริหารจัดการงานวิจัยในการขับเคลื่อนการวิจัยเชิงปฏิบัติแบบมีส่วนร่วมร่วมกับภาคีนักวิจัยและภาคีผู้ทรงคุณวุฒิภายใต้เครือข่ายของชุดโครงการ อีกทั้งการสนับสนุนของผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนและสังคม

    จากปีที่ 1 จนถึงปีที่ 14 ได้มีการเซ็นสัญญากัน 9 ครั้ง (ไม่นับรวมชุดโครงการระยะที่ 7) โดยเป็นไปตามกรอบการดำเนินการวิจัยระหว่างปี พ.ศ. 2549 – 2559 ที่ผู้ประสานงานได้นำเสนอไว้ในเวทีผู้บริหารของ สกว. ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เมื่อ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2549 เพื่อการบรรลุ Ultimate Goal ในปี พ.ศ. 2559 (เป็นปีเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี การสหกรณ์ไทย) ว่า “คนในสังคมมีจิตวิญญาณสหกรณ์ ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ”


    เส้นทางการขับเคลื่อนการวิจัย 14 ปี เริ่มจาก......

    • พ.ศ. 2543 : โครงการวรรณกรรมปริทัศน์งานวิจัยและวิทยานิพนธ์ด้านสหกรณ์ พ.ศ. 2533-2543 มีวัตถุประสงค์เพื่อทราบถึงเอกสารทางวิชาการในสถาบันการศึกษาหรือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสหกรณ์

    • พ.ศ. 2544 – 2545 โครงการประสานงานเพื่อพัฒนากรอบแนวคิดสำหรับชุดโครงการวิจัยด้านสหกรณ์ มีวัตถุประสงค์คือ การสังเคราะห์องค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินงานของขบวนการสหกรณ์ในปัจจุบันและการจัดเวทีระดมความคิดเห็นเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันในการกำหนดกรอบแนวคิดสำหรับชุดโครงการวิจัยที่จะนำไปสู่การปฏิรูปขบวนการสหกรณ์ไทยอย่างเป็นรูปธรรม

    • พ.ศ. 2546 – 2548 ชุดโครงการวิจัย “แนวทางการพัฒนาเครือข่าย/กลุ่มองค์กรประชาชนในพื้นที่จังหวัด 9 จังหวัด” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาแนวทางและรูปแบบในการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่าย/กลุ่มองค์กรประชาชน ทั้งที่เป็นสหกรณ์แบบจดทะเบียนและไม่จดทะเบียน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งในระดับสมาชิก องค์กร เครือข่าย ตลอดจนเกิดความร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โครงการนี้มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อหารูปแบบและแนวทางในการพัฒนาและเชื่อมโยงเครือข่ายกลุ่ม/องค์กรประชาชน ทั้งที่เป็นสหกรณ์ที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียน เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งทั้งในระดับสมาชิก ระดับองค์กร และระดับเครือข่าย และเกิดความร่วมมือที่จะอำนวยประโยชน์ต่อกันและกันอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน และวัตถุประสงค์เฉพาะ : (1) เพื่อศึกษาสถานการณ์การดำเนินงานและปัญหา อุปสรรคของกลุ่ม/องค์กรประชาชนพื้นที่จังหวัด ทั้งที่เป็นสหกรณ์ที่จดทะเบียน และสหกรณ์ภาคประชาชน และศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน (2) เพื่อศึกษาหารูปแบบในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกให้เหนียวแน่นเข้มแข็งตามอุดมการณ์สหกรณ์ และกระบวนการในการเสริมสร้างความสามารถของกลุ่ม/องค์กรประชาชน ทั้งที่เป็นสหกรณ์ที่จดทะเบียนและสหกรณ์ภาคประชาชน และ (3) เพื่อศึกษาหารูปแบบและกระบวนการในการเชื่อมโยงเครือข่าย/องค์กรประชาชน ทั้งที่เป็นสหกรณ์ที่จดทะเบียนและสหกรณ์ภาคประชาชนในพื้นที่จังหวัดเดียวกันให้สามารถร่วมมือในลักษณะที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ซึ่งกันและกันและมีความยั่งยืน

    • พ.ศ. 2548 -2551 ชุดโครงการวิจัย “การพัฒนาขบวนการณ์สหกรณ์ในพื้นที่ 36 จังหวัด” เป็นลักษณะของการขยายผลการดำเนินการชุดโครงการฯ ในพื้นที่ 9 จังหวัด โดยมีแหล่งเงินทุนสนับสนุนจากกระทรวงมหาดไทย ภายใต้โครงการแก้ปัญหาความยากจน มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อต่อยอดและขยายผลจากงานวิจัยเดิมมาขับเคลื่อนการพัฒนาขบวนการสหกรณ์ในพื้นที่ 36 จังหวัด (2) เพื่อหาแนวทางการสังเคราะห์บทเรียน การสร้างความร่วมมือ สร้างพันธมิตรและเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่ม/องค์กร/สหกรณ์ต่างๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของจังหวัด และแนวทางสหกรณ์ในการแก้ปัญหาความยากจน และ (3) เพื่อสร้างเครือข่ายนักวิชาการและนักพัฒนาในด้านสหกรณ์ ทั้งในระดับกลุ่ม/องค์กร และระดับเครือข่าย

    หลังจากสิ้นสุดการวิจัยของชุดโครงการฯ ท่านผู้อำนวยการฝ่ายชุมชนเห็นชอบให้ใช้งบประมาณส่วนเหลือดำเนินการโครงการในระยะขยายผล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ (1) ติดตามความก้าวหน้าและการดำเนินงานของเครือข่ายที่เป็นผลลัพธ์ของชุดโครงการฯ (2) เพื่อหนุนเสริมการขับเคลื่อนการดำเนินงานของเครือข่ายและการขยายผล (3) เพื่อถอดบทเรียนสำหรับชุดความรู้ “การเชื่อมโยงเครือข่ายคุณค่า” ต่อเนื่องด้วยการวิจัยในระยะขยายเวลาเพื่อการประสานงานกับภาคีพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ และการจัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยต่อไป

    การดำเนินการชุดโครงการฯดังกล่าว มีนักวิจัย 300 คน ผู้มีส่วนร่วม 38,342 คน โดยผู้ประสานงานได้จัดกิจกรรมสนับสนุนแก่นักวิจัยทั้งสิ้น 54 ครั้ง

    • พ.ศ. 2551 – 2552 ชุดโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม” มีวัตถุประสงค์คือ (1) สร้างเครือข่ายนักวิจัย นักสหกรณ์ และเครือข่ายที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการสร้างระบบวิจัยเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาขบวนการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม (2) สร้างระบบวิจัยด้านสหกรณ์เพื่อสนับสนุนการพัฒนาขบวนการสหกรณ์สู่การเป็นระบบสหกรณ์ที่มีคุณค่า และระบบการค้าที่เป็นธรรม และ (3) สนับสนุนและประสานงานโครงการวิจัยภายใต้ชุดโครงการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาระบบสหกรณ์ที่มีคุณค่าและระบบการค้าที่เป็นธรรม

    การดำเนินการชุดโครงการฯดังกล่าว มีนักวิจัย 53 คน ผู้มีส่วนร่วม 12,102 คน มีกิจกรรมทั้งสิ้น 130 ครั้ง

    • พ.ศ. 2552 – 2553 ชุดโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม” มีวัตถุประสงค์ (1) การเป็นแกนนำในการริเริ่มสร้างนวัตกรรมสำหรับรูปแบบสหกรณ์ และการบริหารจัดการสหกรณ์แนวใหม่เพื่อขยายผลการขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์ (2) สังเคราะห์ชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนการพัฒนาการสหกรณ์ในทิศทางการนำคุณค่าสหกรณ์ (3) พัฒนาระบบสนับสนุนและโครงสร้างพื้นฐานจำเป็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์สู่ระบบสหกรณ์ที่มีคุณค่า และ (4) ติดตามและหนุนเสริมเครือข่ายที่ผลลัพธ์ของชุดโครงการฯ

    การดำเนินการวิจัยของชุดโครงการฯนี้ มีนักวิจัย 26 คน ผู้มีส่วนร่วม 1,745 คน มีกิจกรรมทั้งสิ้น 122 ครั้ง

    • พ.ศ. 2553 – 2554 ชุดโครงการวิจัย “การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม” มีวัตถุประสงค์ (1) เป็นแกนนำในการคิดค้นนวัตกรรม สนับสนุนการพัฒนาในทิศทางเชิงคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม (2) เพื่อประสานงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนการวิจัยในกลุ่มภาคีที่สนใจ เพื่อการแก้ไขความยากจน การตั้งรับนโยบายการเปิดเสรีอาเซียน และการพัฒนาที่ยั่งยืน (3) เป็นแกนนำในการขับเคลื่อน VN & F Platform เพื่อพัฒนาระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง (4) เป็นแกนนำในการพัฒนาหลักสูตรเรียนรู้ภายใต้ VN & F Platform และการสานสัมพันธ์เครือข่ายผู้นำ (5) เพื่อพัฒนาเครื่องมือระบบสนับสนุนและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม และ (6) เพื่อติดตามหนุนเสริมเครือข่ายที่เป็นผลผลิตของชุดโครงการ

    การดำเนินการวิจัยของชุดโครงการฯนี้ มีนักวิจัย 34 คน ผู้มีส่วนร่วม 5691 คน มีกิจกรรมทั้งสิ้น 124 ครั้ง

    • พ.ศ. 2554 – 2555 ชุดโครงการ “การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม” มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนา เพื่อได้มาซึ่งชุดความรู้และนวัตกรรม เพื่อการเผยแพร่และการใช้ประโยชน์ในสังคม (2) เป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาการนำคุณค่าสหกรณ์ สู่การปรับเปลี่ยน ค่านิยม วิถีคิด วิถีการทำงานร่วมกันในองค์กร / ชุมชน วิถีการผลิต และวิถีการบริโภค ภายใต้กลไกชุดความรู้ตามกรอบระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (3) ประสานงานและสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาของชุดโครงการวิจัยในการพัฒนาระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม ในกลุ่มภาคีที่สนใจเพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์ “คนในสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม และมีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง” (4) เพื่อใช้หลักสูตรเรียนรู้สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลงร่วมกับหน่วยงานภาคีพันธมิตรให้เกิดการขยายผลการพัฒนาในวงกว้าง (5) เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสนับสนุนการขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์ในเชิงอัตลักษณ์ และ (6) เพื่อติดตามหนุนเสริมเครือข่ายที่เป็นผลผลิตของชุดโครงการฯ ในเกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาสหกรณ์ในเชิงอัตลักษณ์อย่างต่อเนื่อง และเกิดประโยชน์ต่อชุมชน และสังคม

    การดำเนินการวิจัยของชุดโครงการฯนี้ มีนักวิจัย 50 คน ผู้มีส่วนร่วม 10,522 คน มีกิจกรรมทั้งสิ้น 127 ครั้ง

    • พ.ศ. 2555 – 2556 ชุดโครงการ “การขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม” มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนา ร่วมกับภาคีที่เกี่ยวข้องให้ได้มาซึ่งความรู้และนวัตกรรมสำหรับแนวทางในการส่งเสริมตัวแบบธุรกิจฐานสังคม (SEE) ในการเป็นกลไกการพัฒนาชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์การพัฒนาภายใต้แผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 และเตรียมความพร้อมในการก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (2) เพื่อเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนการพัฒนาและขยายผลตัวแบบธุรกิจฐานสังคม (SEE) ที่มุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนค่านิยม วิธีคิด วิธีการทำงานร่วมกันของคนในสังคม สถาบันเกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อย นักธุรกิจ เจ้าหน้าที่ส่งเสริมของรัฐ และภาคีที่สนใจ ตลอดจนผู้บริโภคในแนวทางการพัฒนาระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม (3) เพื่อศึกษาหาแนวทางและการขับเคลื่อนการสนับสนุนธุรกิจฐานสังคม ในส่วนของระบบสารสนเทศ หลักสูตรเรียนรู้ ศูนย์เรียนรู้มีชีวิต และหลักสูตรการศึกษาในสถาบันการศึกษา และ (4) เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนตัวแบบธุรกิจฐานสังคม และหาแนวทางขยายผลสู่หุ้นส่วนและพันธมิตรทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

    การดำเนินการวิจัยของชุดโครงการฯนี้ มีนักวิจัย 51 คน ผู้มีส่วนร่วม 9,424 มีกิจกรรมทั้งสิ้น 125 ครั้ง

    จะเห็นได้ว่า ผลงานสร้างสรรค์ของชุดโครงการฯ ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของภาคีหลายภาคส่วนโดยใช้ ปณิธานร่วม “มุ่งสร้างคนให้สะท้อนคุณค่า เพื่อการพัฒนาสหกรณ์” ผ่านกระบวนการวิจัย เพื่อการบรรลุ Ultimate Goal ซึ่งกำหนดไว้สำหรับปีแห่งการเฉลิมฉลอง 100 ปี การสหกรณ์ไทย ในปี พ.ศ. 2559 ว่า “คนในสังคมมีจิตวิญญาณสหกรณ์ ร่วมมือกันพัฒนาประเทศ”

    บนความเชื่อมั่นว่า หากคนในสังคมได้มีโอกาสเรียนรู้ร่วมกันในการพัฒนาตนเองให้มีสมรรถนะ และมีโอกาสเข้าไปขับเคลื่อนการดำเนินงานในกลุ่ม/องค์กร/สหกรณ์ ในทิศทางสร้างสรรค์คุณค่าและการสร้างมูลค่าเพิ่มในการประกอบอาชีพและการดำเนินชีวิต โดยยึดมั่นบนหลักการพึ่งพาและร่วมมือกัน ก็จะเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายนักวิจัย ผู้ทรงคุณวุฒิและประชาคมวิจัยจึงได้รวมพลังกันสร้างสรรค์งานวิจัย จากปีที่ 1 สู่ปีที่ 2 ที่ 3 จนถึงปีที่ 14 ภายใต้การสนับสนุนของสกว. หากเปรียบกับการเดินขึ้นบันได ก็ดูเหมือนพวกเราจะขึ้นมาสูงทีเดียว และก็ยังมีบันไดขั้นต่อไปที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ในโลกไร้พรมแดน และหากเปรียบเป็นต้นไม้ก็เป็นต้นไม้ที่เติบใหญ่แผ่กิ่งก้านพอควร และถ้าสังเกตให้ดีในทุกขั้นบันได และทุกกิ่งก้านที่ต่อยอดออกมานั้น มีปรากฏให้เห็นผลงานของประชาคม ที่สำคัญผลงานเหล่านั้นไม่ได้เป็นเพียงเฉพาะ “ตัวหนังสือ” ที่เขียนให้อ่าน แต่เป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่พวกเราภาคภูมิใจร่วมกัน

    สรุปผลงานสร้างสรรค์ของชุดโครงการฯ

    View:8192