เกริ่นนำ
การจะทำสิ่งใดให้เป็นผลสำเร็จนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมี keyword หรือหัวใจสำคัญ ซึ่งการจะพัฒนาเครือข่ายผลไม้ให้นำไปสู่การค้าที่ยั่งยืนและเป็นธรรมก็เช่นกัน ต้องมีหัวใจสำคัญเป็นแรงขับเคลื่อนเช่นกัน หัวใจสำคัญของการบริหารธุรกิจรวบรวมผลไม้ของสหกรณ์ในปัจจุบันหรือระบบเศรษฐกิจใหม่ (New Economy) ก็คือ การพัฒนาระบบโซ่อุปทาน หรือ Supply Chain Management เป็นการบริหารกระบวนการทั้งหมด ทุกขั้นตอน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อสินค้า และส่งสินค้าไปสู่ผู้บริโภค รวมถึงการสร้างระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งจะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ค่าใช้จ่าย และเวลาในการทำงานลง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการสร้างสรรค์คุณค่า ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อยให้มีความรู้ ความสามารถในอาชีพการเป็นเกษตรกรผู้ผลิตผลไม้คุณภาพได้อย่างยั่งยืนควบคู่กับความมั่นคงของสหกรณ์
ความเป็นมา...น่าสนใจ
อันเนื่องมาจากเกษตรกรชาวสวนผลไม้ในจังหวัดจันทบุรี ประสบปัญหาการที่สภาวะอากาศมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ต้นทุนการผลิตปรับราคาสูงอย่างต่อเนื่อง ผลไม้ไม่ได้คุณภาพ ราคาจึงตกต่ำ ทำให้เกษตรกรต้องประสบกับการขาดทุน ทำให้ต้องไปกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน หรือ กู้ยืมเงินนอกระบบ หรือชาวสวนผลไม้บางส่วนก็หันไปปลูกยางพาราและปาล์มน้ำมันตามนโยบายรัฐแทนการทำสวนผลไม้ จนเรียกได้ว่าเกิดเป็นกระแส “ตื่นยาง” ซึ่งเหตุนี้เองที่ทำให้หลาย ๆ ฝ่ายนิ่งนอนใจไม่ได้ และต้องมาร่วมกันแก้ปัญหาของชาวสวนผลไม้ ซึ่งการดำเนินธุรกิจผลไม้สหกรณ์จะควบคู่ไปกับการสร้างความมั่นคงในอาชีพของชาวสวนผลไม้ โดยมุ่งการสร้างการเปลี่ยนแปลง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่หนึ่ง ก็คือ สมาชิกสหกรณ์ เพื่อปลูกจิตวิญญาณการทำสวนผลไม้คุณภาพ และปรับความคิดการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งสมาชิกประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก จึงต้องพึ่งพาสหกรณ์ ทั้งด้านเงินทุน การหาปัจจัยการผลิต และการจัดจำหน่าย กลุ่มที่สอง คือ ภาคีพันธมิตรเห็นชอบเป้าหมายร่วมและแผนธุรกิจของสหกรณ์ และกลุ่มที่สาม คือ กลุ่มของผู้บริโภค โดยสร้างความเชื่อมั่นศรัทธาของผู้บริโภคสำหรับผลไม้คุณภาพ โดยสิ่งสำคัญที่จะให้เครือข่ายเข้มแข็งสหกรณ์เองก็ต้องแข็งแกร่ง ต้องบริหารด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส ยุติธรรม และไม่เอาเปรียบสมาชิกด้วยภายใต้หลักธรรมาภิบาล ตลอดจนกลยุทธ์การแบ่งส่วนตลาด โดยคำนึงถึงข้อได้เปรียบในการแข่งขันในตลาด และหาทางเจาะตลาด ซึ่งถือได้ว่าเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จเลยก็ว่าได้
ถึงจะเหนื่อยแต่ก็คุ้มค่า เพราะผลการวิจัยจากโครงการดังกล่าว ทำให้ได้ผลผลิตเป็นตัวแบบธุรกิจเครือข่ายคุณค่าผลไม้ ทั้งในกิจกรรม ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งก่อให้เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ ในการจัดการสวนผลไม้คุณภาพ รวมถึงการบริหารความเสี่ยงที่จะนำไปสู่รายได้ และอาชีพที่มั่นคง เกิดตัวแบบของการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มผู้ผลิตผลไม้คุณภาพเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย สู่สหกรณ์ที่เป็นองค์กรธุรกิจฐานสังคม ส่งผลให้เกิดการร่วมกันคิดร่วมกันทำร่วมกันแก้ไขปัญหา เกิดการพึ่งพาตนเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน แบ่งปันกัน และเห็นความสำคัญของการเป็นผู้ให้ ที่สำคัญยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มผู้ผลิตผลไม้คุณภาพ เขตอำเภอเขาคิชฌกูฏ และอำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี สร้างเป็นเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พัฒนาการผลิต ก่อให้เกิดความมั่นคงในอาชีพ และความยั่งยืนทางการตลาดผลไม้คุณภาพ
กระบวนการวิจัย
กระบวนการวิจัยเริ่มจากการนำทุนความรู้ของชาวสวนผลไม้คุณภาพ มาสร้างจิตสำนึกและรณรงค์ให้ชาวสวนได้เห็นความสำคัญของการปรับเปลี่ยนแนวการปฏิบัติในการทำอาชีพชาวสวนผลไม้อย่างยั่งยืน ต่อมาคือการยกระดับการจัดการสวนผลไม้เพื่อให้เกิดความหลากหลาย ถัดมาคือการส่งเสริมการทำสวนผลไม้คุณภาพผ่านกลไกกลุ่มชาวสวนผลไม้คุณภาพและกลุ่มทายาทชาวสวนผลไม้ โดยมีกลุ่มชาวสวนผลไม้เป็นต้นแบบและเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ร่วมกัน ขั้นตอนต่อมา คือ การวางกรอบทิศทางตามแนวทางการจัดการโซ่อุปทานในธุรกิจ ขั้นตอนต่อมา คือ การเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อการส่งเสริมการผลิตและการจำหน่ายผลไม้คุณภาพ รวมไปถึงการสร้างแบรนด์ผลไม้คุณภาพเขาคิชฌกูฏ เพื่อเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของผลไม้คุณภาพ และสุดท้ายเป็นการถ่ายโอนความรู้สู่ภาคีชาวสวนผลไม้ การสร้างกลุ่มทายาทเกษตรกร และการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้มีชีวิตเพื่อการเผยแพร่
รางวัล...น่าภาคภูมิใจ
เนื่องจาก “โครงการวิจัยเครือข่ายคุณค่าผลไม้” เป็น 1 ใน 23 ผลงาน และเป็น 1 ใน 5 ด้านตามแนวทางการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ของ สกว. คือ ด้านชุมชนและพื้นที่ ทำให้โครงการดังกล่าว โดยคุณศศิธร วิเศษ หัวหน้าโครงการวิจัยภายใต้ชุดโครงการขับเคลื่อนการพัฒนาการสหกรณ์และการค้าที่เป็นธรรม ของสถาบันวิชาการด้านสหกรณ์ ได้รับมอบรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น สกว. ประจำปี 2557 จาก นพ.ไกลสิทธิ์ ตันติศิรินทร์ ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย
บทสรุป...โดยข้อคิดดีๆ
จุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการนั้น ก็เพื่อส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน โดยมุ่งหวังให้เกษตรกรภาคภูมิใจในอาชีพเกษตรกร และยังเป็นการพัฒนาอาชีพ พัฒนาชุมชน พัฒนาสหกรณ์ สู่ความยั่งยืน ตลอดจนเป็นการเปิดโอกาสการขยายช่องทางการตลาด นำมาซึ่งรายได้ และความมั่งคงในอาชีพ ทำให้เศรษฐกิจดี สังคมดี ส่งผลให้เกิดชุมชนเข้มแข็ง โดยมีสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจฐานสังคม