กระบวนการดำเนินงานร้าน Farmer Shop
กระบวนการดำเนินงานร้าน Farmer Shop ได้รับการออกแบบด้วยการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ที่เน้นให้ผู้ส่วนเกี่ยวข้องทุก ๆ ฝ่ายได้ร่วมกันระดมสมอง ผ่านการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ในทีนี้ จะได้แบ่งกระบวนการออกเป็น 2 ประเด็น คือ ขอบเขตการดำเนินการ และ ระบบธุรกิจร้าน Farmer Shop
1 ขอบเขตการดำเนินการร้าน Farmer Shop
มีการแบ่งการดำเนินการโครงการร้าน Farmer Shop ออกเป็น 3 ระยะ ในช่วง 5 ปี โดยกำหนดขอบเขตการดำเนินการในแต่ละช่วง ดังนี้
ระยะที่ 1: การเตรียมการ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยจาก สกว. สําหรับการประสานงานกับหน่วยงาน/เครือข่าย/พันธมิตรธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ในการออกแบบระบบและจัดทําข้อเสนอสําหรับโครงการลงทุน โครงการทดลองตัวแบบ Farmer Shop ใช้เวลา 1 ปี
ระยะที่ 2: การดําเนินการจัดตั้งและดําเนินการโครงการทดลองตัวแบบ Farmer Shop การดําเนินการจะเป็นในรูปแบบของการทําธุรกิจร้านค้าปลีก (Retail Shops) ซึ่งจะพัฒนาเพื่อการนําไปใช้ประโยชน์ในชุมชน/สหกรณ์/ผู้ประกอบการรายย่อย โดยกําหนดสถานที่ ณ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ใช้เวลา 2 ปี
ระยะที่ 3: การขยายผลไปสู่การใช้ประโยชน์ในชุมชน สหกรณ์สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย จะประกอบไปด้วยการจัดตั้งและดําเนินงานสถาบันเรียนรู้ Farmer Shop ซึ่งให้การเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสินค้าคุณภาพ การบริหารจัดการธุรกิจ Farmer Shop (การจัดหา- การจัดชั้นวางสินค้า-การกําหนดราคาสินค้า-การบริหารต้นทุนต่อหน่วย-การจัดทํางบการเงิน-การจัดการคลังสินค้า-การบริหารความเสี่ยงในธุรกิจ ฯลฯ) การพัฒนาระบบการรับรองคุณภาพสินค้า การพัฒนาระบบธุรกิจในแนวทางของระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรมภายใต้แบรนด์ Farmer Shop ใช้เวลา 2 ปี
อาจอธิบายได้ด้วยภาพ ดังนี้
2 ระบบธุรกิจร้าน Farmer Shop
ร้าน Farmer Shop ดำเนินการภายใต้แนวคิดการจัดการโซ่อุปทานอย่างบูรณาการกับแนวคิดของเครือข่ายคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม โดยได้ออกแบบมาเป็นระบบธุรกิจเป็นการเฉพาะ ดังนี้
1. การสร้างเครือข่ายอุปทานสําหรับสินค้าเกษตรแปรรูป 3 หมวด ได้แก่ ประเภทอาหาร ประเภทสินค้าอุปโภค และประเภทของใช้-ของที่ระลึก โดยผ่านกิจกรรมการจัดเวทีสร้างความเข้าใจเพื่อค้นหาผู้ประกอบการรายย่อยและผู้ผลิตที่เห็นในแนวทางระบบคุณค่าและการค้าที่เป็นธรรม ตลอดจนการเชื่อมโยงเขาเหล่านั้นเป็นเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจ และเวทีการการคัดสรรสินค้า
2. การพัฒนาสินค้าให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ภายใต้กลไกการจัดเวทีให้ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตสินค้าให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน
3. การบริหารจัดการโซ่อุปทาน ที่ได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมโครงการ ผ่านกลไกศูนย์เรียนรู้ Farmer Shop เพื่อวางระบบการสั่งซื้อ การจัดส่งสินค้า การวางบิล และการตรวจสอบย้อนกลับสินค้าให้ได้ตามเงื่อนไขที่กําหนด
4. จำหน่ายสินค้าแก่ผู้บริโภค การบริหารจัดการร้านค้าปลีก ซึ่งมีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ การวางแผน การดําเนินงาน และการประเมินผล ประกอบไปด้วยกิจกรรมที่สําคัญ ได้แก่
4.1. การวางกรอบทิศทางการดําเนินงาน Farmer Shop
4.2. การกําหนดสถานที่ตั้ง และการวิเคราะห์ปัจจัยสภาพแวดล้อมเพื่อกําหนดแผนธุรกิจให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภค
4.3. การตกแต่งร้านและการจัดวางสินค้า
4.4. การาจัดหมวดหมู่(ประเภท) และรายการสินค้าเพื่อจําหน่าย
4.5. การจัดซื้อ
4.6. การกําหนดราคา
4.7. การจัดจําหน่ายผ่านช่องทางการตลาดต่าง ๆ เช่น การจําหน่ายหน้าร้าน การจําหน่ายผ่านแคตตาล็อก การขายตรง (Direct Marketing)
4.8. การจัดการสินค้าคงคลัง
4.9. การบัญชีและการควบคุม
4.10. การรายงานผลการดําเนินงาน
5. การสร้างแบรนด์ Farmer Shop การจัดตั้งและดําเนินโครงการตัวแบบ Farmer Shop เป็นเรื่องของการสร้างสรรค์ระบบธุรกิจเชิงคุณค่า โดยเน้นให้ผู้บริโภคที่เป็นกลุ่มเป้าหมายจดจําแบรนด์ รู้สึกผูกพันเห็นคุณค่า และอุดหนุนสินค้าอย่างต่อเนื่อง ด้วยการจัดบู๊ทการส่งเสริมการขาย การประชาสัมพันธ์ ฯลฯ โดยมุ่งให้คนในสังคมตระหนักในคุณค่า "สินค้ามีคุณภาพ ราคาเป็นธรรม"
ข้อมูล Farmer Shop